ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ทฤษฎีการเรียนรู้มีความสำคัญอย่างไร

ทฤษฎีมีการก่อกำเนิดจากร่มใหญ่ของปรัชญา ซึ่งปรัชญาก็คือกลุ่มหรือชุดความคิด ความเชื่อในเรื่องต่างๆ เช่น ปรัญชาการศึกษา คือ ความเชื่อเกี่ยวกับจัดการเรียนรู้ โดยนักปรัชญาต้องการจะตอบคำว่าที่ว่า "ความรู้คืออะไร" และ "จะศึกษาและเรียนรู้ความรู้นั้นได้อย่างไร"

ในอดีตมีปรัชญาการศึกษาที่เชื่อว่า "ความรู้เป็นสิ่งที่มีค่า เป็นสิ่งที่จีรัง ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เกิดขึ้นจากผู้อาวุโสหรือผู้ที่เป็นพหูสูต เท่านั้น" จึงนำมาสู่ทฤษฎีที่เรียนที่รู้ภายใต้ความเชื่อนี้ว่า เช่นนั้นแล้วหากเราจะเรียนรู้ความรู้ที่จีรังยั่งยืน ก็ต้องท่องจำความรู้ที่ผู้อาวุโส ผู้เป็นครูอาจารย์ได้บัญญัติไว้ ผู้เรียนถือเป็นผู้น้อย จะไม่สามรรถคิดหรือสร้างความรู้ใหม่ได้เอง จากปรัชญา ความเชื่อและทฤษฎีเช่นนี้ จึงนำมาส฿วิธีการเรียนรู้ที่เน้นการท่องจำ การทำซ้ำๆ ทำบ่อยๆ เพื่อให้จดจำความรู้ได้ ดังเช่น ที่เราพบเห็นในอดีต หรือแม้ในปัจจุบันก็ยังพอมีปรากฏให้เห็น เช่น "ท่องบทนี้มาสอบ" "คัดมาส่งครู 20 บรรทัด" "เปิดหน้า 23 แล้วอ่านให้เพื่อนจดตาม" ซึ่งในอดีตสามารถจัดการเรียนรู้แบบนี้ได้ เนื่องจากมีความเชื่อข้างต้น กอปรกับข้อมูล สารสนเทศยังมีน้อย ผู้คนยังไม่กล้าที่จะคิดหรือแม้คิดก็ไม่กล้าจะแสดงความเห็น หากความคิดของตนไปขัดแย้งกับผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโส จึงทำให่เกิดองค์ความรู้น้อย ไม่มีองค์ความรู้ใหม่ การท่องจำ หรือทำซ้ำๆ ก็ยังสามารถพอทำได้


แต่ในระยะหลัง เมื่อมีความเจริญด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร รวมทั้งการยอมรับและเปิดโอกาสสำหรับความคิดเห็นที่แตกต่างหรือขัดแย้งกับกับความคิดของผู้มีอำนาจ ผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโส จึงทำให้ข้อมูล สารสนเทศและความรู้ถูกสร้างขึ้นใหม่จำนวนมากและรวดเร็ว ซึ่งหากคนหนึ่งคนจะมีความรู้ที่ได้มาด้วยการจดจำจึงเป็นสิ่งที่ยากลำบากและเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากความรู้ในยุคหลังมีจำนวนมากและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ปรัชญาหรือความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้จึงเปลี่ยนไป ซึ่งเชื่อว่า "ความรู้เป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน เปลี่ยนแปลงได้ตามบริบทและสภาพแวดล้อม" และนำมาซึ่งทฤษฎีหรือแนวทางในการจัดการเรียนรู้ที่ไม่ต้องจดจำ ไม่ต้องท่อง แต่ต้องเรียนรู้วิธีการดักจับ ค้นหา ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศจากแหล่งต่างๆ แล้วสังเคราะห์มาเป็นความรู้ที่จำเป็นเฉพาะตัวเอง ความรู้ที่จำเป็นสำหรับคนหนึ่ง อาจจะไม่จำเป็นสำหรับอีกคนหนึ่งหรือคนอื่นๆ ก็ได้ ดังนั้น คนแต่ละคนไม่จำเป็นต้องมีความรู้เหมือนกันทั้งหมด แต่ต้องมีความรู้ในเรื่องที่จำเป็นสำหรับตนเอง ทั้งเกี่ยวกับการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต เหตุผลประการหนึ่งคือ ในชีวิตคนเราจะพบเจอปัญหาที่แตกต่างกัน แม้แต่นักเรียนที่เรียนในชั้นเดียวกัน คนที่เป็นพี่น้องในครอบครัวเดียวกันหรือแม้แต่ฝาแฝดที่คลานตามกันมา ก็ยังมีปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดจึงไม่ใช่การท่องจำความรู้เยอะๆ มากๆ แต่เป็นการเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาและการหาความรู้เพื่อแก้ปัญหาด้วยตนเอง

ตามความเชื่อหรือปรัชญาแนวใหม่จึงไม่นิยมที่จะให้นักเรียนท่องจำ คัด 20 รอบหรือจด 2 ย่อหน้าแล้วมาส่งครู แต่จะส่งเสริมให้นักเรียนค้นหาและวิเคราะห์สารสนเทศที่จำเป็น และสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งความรู้ที่จำเป็นจะถูกกำหนดโดยตัวของนักเรียน และนักเรียนจะเป็นผู้ประเมินตนเองว่า มีความรู้ในเรื่องที่จำเป็นเพียงพอหรือยัง หากไม่เพียงพอจะเสาะแสวงหาสิ่งใดเพิ่มเติม ครูเป้นแต่เพียงผู้จัดเตรียมสารสนเทศที่หลากหลายและเพียงพอ ตลอดจนสามารถเข้าถึงได้สะดวกให้กับนักเรียน รวมทั้งอาจจะให้คำแนะนำหรือชี้แนะในการสรุปองค์ความรู้หรือแนวทางการแก้ปัญหาในฐานะผู้มีประสบการณ์มากกว่า เท่นัน้ ไม่ใช่ในฐานะผู้สอน ที่ผู้เรียนต้องเชื่อฟังทั้งหมด

ดังนั้น การจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ล้วนจะอยู่ภายใต้ ความคิด ความเชื่อ และทฤษฎีการเรียนรู้ อยู่ที่ว่าครูจะมีความเชื่อเช่นใด แล้วท่านเองเชื่อว่าความรู้เป็นสิ่งที่จีรังยั่งยืน หรือเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ แล้วแนวทางการจัดการเรียนรู้ของท่านสอดคล้องกับความเชื่อนั้นหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น