ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

อนุชา  โสมาบุตร, anuchalive@gmail.com 
การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ:
เป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนที่ให้ผู้เรียนได้ลงมือสร้างความรู้ด้วยตนเองและสามารถนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์
ในโลกปัจจุบันพบว่าความต้องการเกี่ยวกับตัวผู้เรียนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาอาจจะมีการตอบสนองต่อการเรียนแบบท่องจำมามากแล้ว แต่ในปัจจุบันในสภาพชีวิตจริงต้องการบุคคลในสังคมที่มีความสามารถในการใช้ทักษะการให้เหตุผลในระดับที่สูงขึ้นในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งพบว่าความสามารถในทักษะดังกล่าวที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาไม่ค่อยปรากฏให้เห็นหรือมีอยู่น้อยมาก ในปัจจุบันจะพบว่าทุกๆ คนไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ทำงานในโรงงานประกอบเครื่องจักรตามสายพานหรือทำงานที่ต้องร่วมกันคิดเป็นทีม ต่างล้วนจำเป็นต้องมีทักษะการแก้ปัญหาด้วยกันทั้งหมด ซึ่งนั่นหมายความว่าแนวความคิดเกี่ยวกับการจัดการศึกษาต้องเปลี่ยนไป ดังที่ Driscoll (1994) กล่าวว่า อาจจะต้องเปลี่ยนจากแนวคิดที่ว่า ผู้เรียนเป็นภาชนะที่ว่างเปล่าที่รอรับการเติมให้เต็ม มาคิดว่า ผู้เรียนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความตื่นตัว กระฉับกระเฉงและค้นหาความหมายของสิ่งต่างๆ ซึ่งขณะนี้ผู้เรียนจะถูกมองว่าเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมอย่างตื่นตัวในการเรียนรู้ คิดค้นหาวิธีที่จะวิเคราะห์ ตั้งคำถาม อธิบายและทำความเข้าใจต่อสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในปัจจุบันเป็นยุคที่การส่งข้อมูลที่รวดเร็วมาก เทคโนโลยีเปิดโอกาสให้แต่ละบุคคลได้รับ รวบรวม วิเคราะห์และสื่อสารข้อมูลข่าวสารได้อย่างละเอียดและรวดเร็วมากกว่าที่ผ่านมา เป็นผลที่ทำให้ความต้องการและขอบเขตเกี่ยวกับการศึกษาขยายเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะช่วยผู้เรียนทุกคนได้รับทักษะที่เพิ่มมากขึ้น ที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความพร้อมในการวิเคราะห์ ตัดสินใจ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงที่ซับซ้อน ดังที่ Bruner (1993) กล่าวว่า "ผู้เรียนต้องยกระดับการเรียนที่เพิ่มจาก “การจดจำ” ข้อเท็จจริงไปสู่การเริ่มต้นที่จะคิดอย่างมีวิจารณญาณและสร้างสรรค์" ความจำเป็นที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีการที่ครูผู้สอนจะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน จากเดิมจะเป็นการบอก ถ่ายทอด ความรู้จากครูไปสู่ ผู้เรียน มาเป็น การจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การยิ่งไปกว่านั้นความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจำเป็นที่ครูผู้สอนต้องมีพื้นฐานของความเข้าใจอย่างดีเกี่ยวกับผู้เรียนแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้อย่างไร


ดังนี้ผู้สอนควรจะศึกษาเทคนิค วิธีการ เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้รับความรู้ใหม่ ซึ่งแต่เดิมมักเป็นการสอนให้ผู้เรียนเรียนโดยเน้นการท่องจำ และปรับเปลี่ยนมาสู่การใช้เทคนิควิธีการที่จะช่วยผู้เรียนได้รับข้อเท็จจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การใช้เทคนิคช่วยการจำ เช่น Mnemonics เป็นต้น รวมทั้งการจัดการสอนที่เน้นครูเป็นศูนย์กลางอาจนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญและเป็นความต้องการของการศึกษาในขณะนี้คือ การสอนที่ผู้เรียนควรได้รับคือ ทักษะการคิดในระดับสูง (Higher-order thinking skills) ได้แก่ การคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตลอดจนการแก้ปัญหา และการถ่ายโอน (Transfer) โดยเน้นการใช้วิธีการต่างๆ อาทิ สถานการณ์จำลอง การค้นพบ การแก้ปัญหา และการเรียนแบบร่วมมือ สำหรับผู้เรียนจะได้รับประสบการณ์การแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับสภาพชีวิตจริง 


ต่อไปนี้จะเป็นการเปรียบเทียบบทบาทของครูผู้สอนและผู้เรียน แบบเดิม และบทบาทที่เปลี่ยนแปลงที่มีการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ดังตารางที่ 1 และ 2

ตารางที่ 1 บทบาทของครูในการจัดสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

บทบาทครู

บทบาทเดิม
บทบาทที่เปลี่ยนแปลง
=> เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเนื้อหาและเป็นแหล่งสำหรับคำตอบ
=> เป็นแหล่งข้อมูลสารสนเทศและส่งเนื้อหาความรู้ไปยังผู้เรียนโดยตรง
=> ถามคำถามและชี้แนะทิศทางในการเรียนรู้ของผู้เรียน
=>  ดำเนินการให้ผู้เรียนได้รับการทดสอบก่อนเรียน และฝึกหัดทีละขั้นตอนเพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์
=>  มีส่วนร่วมอย่างผู้ที่ไม่ได้รอบรู้เรื่องทั้งหมดแต่มีความต้องการที่จะเรียนรู้
=> เป็นผู้ที่สนับสนุน ร่วมมือ ฝึกสอน สำหรับผู้เรียนที่เรียนร่วมกันและประเมินผลข้อมูลข่าวสาร
=>  ฝึกสอนหรือชี้แนะให้ผู้เรียนพัฒนาและตั้งคำถามด้วยตนเองและค้นหาหรือสำรวจทางเลือกในการค้นพบคำตอบ
=> ส่งเสริมผู้เรียนให้ใช้ความรู้และทักษะในการค้นหาวิธีการแก้ปัญหา

ตารางที่ 2 บทบาทของนักเรียนในการจัดสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

บทบาทนักเรียน

บทบาทเดิม
บทบาทที่เปลี่ยนแปลง
=> เป็นผู้ที่รอรับความรู้แนวทางและสารสนเทศจากครูผู้สอนโดยตรง
=>  แสดงบทบาทของผู้เรียนเสมอ
=> ดำเนินกิจกรรมตามกระบวนการที่ได้รับ
=> มีแนวคิดว่าครูผู้สอนเป็นผู้ที่จะให้คำตอบได้ทุกอย่าง
=> ต้องตื่นตัวในการค้นหาความต้องการเกี่ยวกับสารสนเทศและประสบการณ์การเรียนรู้และค้นหาวิธีการที่จะได้มา
=> เข้ามามีส่วนร่วมแบบผู้เชี่ยวชาญ/ผู้จัดเตรียมสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้
=> ต้องการที่จะค้นหา ค้นพบ และหาวิธีการแก้ปัญหาการเรียนรู้
=> มีแนวคิดว่าครูผู้สอนเป็นแหล่งความรู้ เป็นรูปแบบและเป็นผู้ช่วยเหลือที่จะช่วยกระตุ้น การค้นหาและค้นพบวิธีการแก้ปัญหาของผู้เรียน

จากตารางที่  2  ที่แสดงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกี่ยวกับบทบาทของครูและผู้เรียนในสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จากบทบาทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป วิธีการการดำเนินการจะต้องสอดคล้องและเหมาะสมต่อการจัดการเรียนการรู้ จะเห็นได้ว่าจะมุ่งเน้นผู้เรียนได้ลงมือกระทำในภารกิจการเรียนที่ส่งเสริมการแสวงหาข้อมูล การค้นพบคำตอบ ตลอดจนสามารถนำความรู้ที่เรียนมาใช้ในการแก้ปัญหาได้ อันจะส่งผลต่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ “การถ่ายทอดความรู้จากครู” มาสู่ “การสร้างความรู้ของผู้เรียน” ดังนั้น การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมหรือสื่อมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ ควรมีลักษณะเป็นอย่างไร
แผนภาพที่ 1   เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับการจัดการเรียนรู้

จากแผนภาพที่ 1 จะเห็นได้ว่าได้มีแนวคิดเปลี่ยนแปลง จากเดิมครูผู้สอนเป็นผู้ที่วางแผนและถ่ายทอดความรู้ต่างๆไปสู่ผู้เรียนโดยตรง ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาทางด้านสื่อการสอนต่างๆ จึงมีการใช้สื่อการสอนถ่ายทอดเนื้อหา ความรู้ต่างๆไปยังผู้เรียน เช่น แผ่นภาพโปร่งใส ภาพยนตร์ สไลด์ วีดิทัศน์ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน เพื่อช่วยเพิ่มความเป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังแก้ปัญหาที่จำนวนผู้เรียนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยตอบสนองด้านความแตกต่างระหว่างบุคคล ในกรณีเหล่านี้  ในปัจจุบันได้เปลี่ยนจากการสอน หรือการถ่ายทอดโดยครูผู้สอน หรือสื่อการสอนมาสู่การเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางที่ให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยผ่านการปฏิบัติลงมือกระทำด้วยตนเอง การพัฒนาศักยภาพทางการคิด ตลอดจนการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ดังนั้น ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียน วางแผน ดำเนินการและการประเมินด้วยตนเอง ดังแสดงในแผนภาพที่ 2  ผู้เรียนจะเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ซึ่งจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับแหล่งข้อมูลที่มี ศักยภาพ ได้แก่  ครู เทคโนโลยี พ่อแม่ ภูมิปัญญาชาวบ้าน และบุคคลอื่น ๆ ตลอดจน สื่อต่างๆ เพื่อที่จะนำมาสู่การหยั่งรู้ในปัญหาและการแก้ปัญหา หรือการได้มาซึ่งความรู้ที่ตนเองสร้างขึ้น บทบาทของครูได้เปลี่ยนแปลงมาสู่การแนะแนวทางและเป็นผู้อำนวยการ และช่วยเหลือผู้เรียนให้สามารถบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ ดังแสดงในภาพข้างล่าง


แผนภาพที่ 2 โมเดลการใช้สื่อการเรียนรู้ มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง 
(สุมาลี ชัยเจริญ, 2546)


เมื่อมีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ การสอน มาสู่ การเรียนรู้ ดังนั้นเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่นำมาเพิ่มประสิทธิภาพก็ต้องสอดรับกับแนวคิดดังกล่าว คือ มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน ลักษณะของการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือสื่อมาใช้ที่สอดคล้องกับการปฏิรูปการเรียนรู้ เป็น “Media + Methods” หรือ “สื่อ ร่วมกับ วิธีการ” เช่น การใช้ Web-base ร่วมกับการเรียนแบบร่วมมือเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนลงมือกระทำอย่างตื่นตัวในกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเพื่อน รวมทั้งการขยายมุมมอง แนวคิดให้กว้างขวางขึ้น อันนำไปสู่การสร้างความรู้ที่มีความหมายของตนเองขึ้นมา ซึ่งจะเป็นความรู้ที่อยู่คงทน และสามารถถ่ายโอนไปใช้ในสถานการณ์อื่น หรือนำไปใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆในสภาพชีวิตจริงได้ ส่วนวิธีการ (Methods) ที่สอดรับกับสภาพปัจจุบัน ได้แก่
  • การเรียนแบบค้นพบ (Discovery)
  • การเรียนแบบสืบเสาะ(Inquiry)
  • การเรียนแบบแก้ปัญหา (Problem Solving)
  • การเรียนแบบร่วมมือ (Cooperative Learning)
  • การเรียนโดยการสร้างความรู้ (Constructivism)
  • สถานการณ์จำลอง (Simulation)
  • การสร้างโครงงาน

นอกจากจะใช้สื่อร่วมกับวิธีการ ดังกล่าวมาข้างต้น อาจออกแบบการจัดการเรียนรู้ โดยเปลี่ยนเป็น  "การสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้" ซึ่งจะนำพื้นฐานทางทฤษฎีการเรียนรู้ หลักการ หรือวิธีการ มาเป็นพื้นฐานในการออกแบบสื่อ เช่น การจัดสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ของ Web-base learning หรือ การจัดสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ของ ตามแนว Constructivism

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น